“BVLGARI” (บุลการี) ช่างอัญมณีชั้นสูงแห่งกรุงโรม ผู้เป็นดั่งสัญลักษณ์ด้านศิลปะแห่งการใช้ชีวิตแนวร่วมสมัยสไตล์อิตาเลียน จัดงานเลี้ยงสุดพิเศษเฉลิมฉลองการเปิดตัวบูติกสยามพารากอนอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งเปิดตัวป๊อป-อัพสโตร์ใหม่บริเวณชั้น M ศูนย์การค้าสยามพารากอน พื้นที่วงกลมสุดประณีตอันได้แรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมโรมันโบราณอันยิ่งใหญ่ผสมผสานเข้ากับแนวคิดสร้างสรรค์ของ “บีซีโรวัน” (B.zero1) อันเป็นเอกลักษณ์
ภายในงานได้รับเกียรติจากแขกคนสำคัญของ “BVLGARI” พร้อมด้วย “ใหม่ ดาวิกา” Friend of The House บุลการี เซ้าท์เอเชีย-แปซิฟิค, “มาย ภาคภูมิ” Friend of The House บุลการี ประเทศไทย และเหล่าแขกคนพิเศษอย่าง “อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม, พรีม ชนิกานต์ และ ฟรีน สโรชา” ผู้ได้รับเชิญร่วมชมความงดงาม ณ บูติกใจกลางเมืองแห่งนี้
โดยมี “นายเปาโล ดีโอนีซี” (H.E. Mr. Paolo Dionisi) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย “มร. เจฟฟรีย์ ฮัง” (Mr. Jeffrey Hang) กรรมการบริหารระดับภูมิภาคของ บุลการี เซ้าท์เอเชีย-แปซิฟิค “คุณวริศรา ไพรสานฑ์กุล” ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ บริษัท บุลการี (ประเทศไทย) และทีมผู้บริหารจากศูนย์การค้าสยามพารากอน ให้เกียรติร่วมตัดริบบิ้นอย่างเป็นทางการ พร้อมวงดนตรีคลาสิกร่วมบรรเลงเพลงเฉลิมฉลองให้กับบุลการีบูติกรูปโฉมใหม่แห่งนี้
บูติกบุลการีสยามพารากอนนี้ถือบูติกดูเพล็กซ์แห่งแรกในประเทศไทย โดยจัดวางพื้นที่บูติกชั้นล่างคล้ายจตุรัส (piazza) ทรงกลม อันเป็นจุดศูนย์กลางในโซนทางเข้า ซึ่งนำไปสู่การสำรวจพื้นที่อื่น ๆ ภายในบูติก เหมือนกับที่กรุงโรมเผยสิ่งมหัศจรรย์อันเหนือความคาดหมายแก่ผู้มาเยือน หนึ่งในจุดเด่นคือเคาน์เตอร์ที่ไม่มีจุดสิ้นสุดตรงใจกลางจตุรัส ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเซอร์เพนเต (Serpente) ซึ่งสื่อถึงการเคลื่อนไหวและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของบุลการี ที่ยังคงยืนหยัดกับรากฐานของแบรนด์ แต่ยังพัฒนาและคงความร่วมสมัยอยู่เสมอ เปรียบดั่งการเติบโตของงูที่ลอกคราบเพื่อการเปลี่ยนแปลง
ภายในบูติกตกแต่งด้วยเอกลักษณ์ของบุลการี อย่าง เซอร์เพนติสีทองที่มีรูปทรงโค้งราวกับเคลื่อนไหว ไม่เพียงแค่นั้นแนวคิดการออกแบบภายในบูติกถือเป็นการสดุดีผลงานอันโดดเด่นทั้งหมดของบุลการี เช่น เซอร์เพนติ (Serpenti), ดีวาส์ ดรีม (Diva’s Dream), บีซีโรวัน (B.zero1) และ อ๊อกโต (Octo) ที่ทีมออกแบบได้เลือกใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์บูติก ทำให้ผู้มาเยือนจะได้พบกับสัญลักษณ์ของบุลการีหลายชิ้นที่ได้รับการตีความให้เป็นชิ้นงานศิลปะ ผสมผสานการออกแบบแนวอิตาเลียนกับความเชี่ยวชาญของช่างฝีมืออิตาเลียนได้อย่างลงตัว