นอกจากบรรดาตัวละครต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่สร้างความผวาให้กับคนดู เนรมิตรหนัง ฟิล์ม และ ฉายแสง แอด.เวนเจอร์ ขอแนะนำอีกหนึ่งตัวละครสำคัญของภาพยนตร์เรื่องแดนสาป THE CURSED LAND คือ ‘ป่า’ โลเคชันที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความน่าสะพรึงให้กับภาพยนตร์ ในภาพยนตร์เรื่องแดนสาปมีการวางให้ ‘ป่า’ เป็นสถานที่ที่เชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเรื่องราวจะเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดน และเพื่อให้ภาพยนตร์สมจริงที่สุด ภาณุ อารี ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องได้ตัดสินใจใช้ป่า ‘บาลา’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่า ฮาลาบาลา ในจังหวัด ‘นราธิวาส’ เป็นโลเคชั่นหนึ่งในการถ่ายทำ
“เราอยากจะทำให้หนังมันมีความสมจริงสมจังที่สุดและในหนังเองได้พูดถึงเรื่องชายแดน คือบางทีเราก้าวข้ามเขตแดนไปโดยที่เราไม่รู้ตัวหรอก จริง ๆ เขตแดนมันไม่ได้แบ่งกันชัดเจน มีรั้วขอบชัดเจนว่าตรงนี้เป็นประเทศไทย ตรงนี้เป็นตรงนั้นตรงนี้ ไอ้การที่เราเผลอ การที่เราไม่ทราบมาก่อนแล้วเราก็ข้ามเส้นเหล่านั้นไป ผมว่ามันน่าสนใจดี เพราะว่าเราก็ไม่รู้หรอกครับ เราก็ใช้จินตนาการกันว่า ข้ามไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้นในสมัยที่มันมีโจรจีน มีคอมมิวนิสต์ มีอะไรต่อมิอะไร เราก็พยายามจะสร้างบรรยากาศให้มันรู้สึกว่ามันมีความน่าสะพรึงกลัวบางอย่างตรงนั้น ให้มันเกิดความกดดันมากยิ่งขึ้น นอกจากตัวญิน ตัวผีแล้ว ผมว่าบรรยากาศเหล่านี้มันน่าจะช่วยสร้างอารมณ์แล้วก็ความรู้สึก ความน่าสะพรึงกลัวให้กับคนดูได้มากขึ้น” – นนทรีย์ นิมิบุตร พูดถึงการเดินทางไปถ่ายทำสถานที่จริง
ป่าฮาบาบาลา ได้ชื่อว่าเป็น ‘ป่าแอมะซอนแห่งอาเซียน’ เป็นพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าของประเทศไทยประกอบไปด้วยผืนป่าสองผืน คือ ‘ป่าฮาลา’ ในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส กับ ‘ป่าบาลา’ ในพื้นที่อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส
“ในบทเรากำหนดให้ฉากหลักในเรื่องคือจังหวัดชายแดน ซึ่งโจทย์ของเราคือป่าเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน และเราอยากได้ความรู้สึกของบรรยากาศที่แตกต่างระหว่างชุมชนมุสลิมในกรุงเทพฯ กับในสามจังหวัด ดังนั้นจังหวัดนราธิวาสก็เป็นโจทย์ที่เรามองว่ามันจะตอบได้ทุกอย่าง ก็เลยตัดสินใจไปตรงนั้น เพราะว่าในหนัง พื้นที่หลักที่มันอยู่ในภาคใต้ มันคือพื้นที่ในเมือง และพื้นที่ที่มันอยู่ในป่าซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้ลงไปสำรวจอยู่ครั้งหนึ่ง แล้วเราก็ชอบมัน ก็เลยตัดสินใจลงไป
คือเราอาจจะถ่ายฉากในภาคใต้ที่ไหนก็ได้ แต่ว่าเราจะรู้สึกผิดนะถ้าต่อไปคนดูจะมาตั้งคำถามว่า ‘เอ๊ะ ป่าแบบนี้มันไม่ใช่ป่าในสามจังหวัดภาคใต้เลยนี่’ หรือว่า ‘พื้นที่ตรงนี้ ร้านน้ำชาอะไรแบบนี้มันอยู่แถวหนองจอกนี่นา’ ถ้าคนดูเกิดความรู้สึกแบบนี้ขึ้นมา มันจะกลายเป็นตราบาปที่อยู่ในใจเรา ทุกคนก็เห็นในจุดประสงค์เดียวกัน ก็เลยตัดสินใจไปถ่าย ก็ใช่เวลาถ่ายอยู่ที่นั่นไปประมาณ 3 วัน 2 คืน” – ภาณุ อารี พูดถึงการลงไปถ่ายทำในนราธิวาส
เตรียมสัมผัสความน่าสะพรึงของผืนป่าฮาลาบาลาพร้อมกัน